Article Index

dontworryabout-future600pix

 

แล้วปริยัติล่ะ เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติอย่างไร

ผู้คนจำนวนมากศรัทธาเหลือเกิน มีฉันทะที่จะศึกษาปริยัติ มีพระอภิธรรมเป็นต้น แต่ไม่สนใจการปฏิบัติ หรือไม่สามารถนำความรู้ในพระธรรมมาใช้ปฏิบัติได้ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาพระธรรมนั้น เป็นเสมือนแผนที่ เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติให้ข้ามโอฆะได้จริง (โอฆะแปลว่าห้วงน้ำ หมายถึงกิเลส 4 ประเภทคือกาโมฆะ(กาม) ภโวฆะ(ภพ) ทิฏโฐฆะ(ทิฏฐิ) อวิชโชฆะ(อวิชชา) ว่าเป็นเหมือนห้วงน้ำ)
และความรู้ที่พระองค์ทรงรู้ก่อนแล้วนั้น เราก็สามารถรู้ตามได้จริงหากปฏิบัติอย่างถูกต้องจนเกิดปัญญา เมื่อนั้นความเข้าใจในธรรมจะกว้างขวางพิสดาร (พิสดารหมายถึงลึกซึ้งละเอียดละออ) และสามารถชี้แจงแนะนำผู้อื่นได้เพราะมีความรู้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ จึงใคร่สนับสนุนให้นักปฏิบัติได้ศึกษาพระธรรมบ้าง อย่างน้อยในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อที่จะได้รู้จักแผนที่ทางเดินที่ถูกต้อง ไม่เสียเวลาเดินทางผิดหรือเดินทางอ้อม และจะได้เป็นกำลังหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะการศึกษาพระธรรมโดยมิได้ปฏิบัตินั้้น ก็รู้ ก็เข้าใจเป็นส่วนๆ เรียกว่าแตกฉานในพระธรรมในหมวดต่างๆ แต่ไม่เข้าใจว่าธรรมนั้นๆมีลักษณะสภวะของการปฏิบัติที่รู้ได้เห็นได้เป็นอย่างไร อีกประการหนึ่งคือ ผู้ที่ีศึกษาพระธรรมมากๆ แล้วไม่ปฏิบัติ บางท่านบางทีก็พูดธรรมะแล้วคนฟังฟังไม่รู้เรื่อง คือถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ หรือฟังดูว่าเป็นเพียงแค่ความรู้ในตำรา หรือท่องจำ

สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติ เวลาปฏิบัติก็ควรวางความรู้ต่างๆไว้ก่อน เพียงกำหนดรู้กายใจที่เป็นปัจจุบัน ก็จะเกิดความเข้าใจในธรรมด้วยภาวนามยปัญญา แล้วจะอุทานใจใจว่า โอ้! ที่พระองค์ทรงแสดงไว้อย่างนี้ๆๆๆๆๆ ที่เรียนมามันเป็นอย่างนี้นี่เอง มันเห็นได้จริงอย่างนี้นี่เอง มันตรงกับพระธรรมที่ได้ศึกมาอย่างเถียงไม่ได้เลย เมื่อทบทวนความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติและความรู้ที่ได้จากการศึกษาแล้ว จึงเข้าใจได้ว่าทำไมพระธรรมจึงเป็นพระสัทธรรม เป็นความจริงที่ผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเองโดยไม่จำกัดกาล เห็นว่าปัญญาจาการปฏิบัติขัดเกลากิเลสได้จริง และเห็นว่ายังมีกิเลสอีกมากที่นองเนื่องอยู่ข้างใน แล้วจะรู้สึกซาบซึ้งในคำสอนว่าแม้เราปฏิบัติแล้วมีความรู้ความเข้าใจธรรมเกิดขึ้นเพียงส่วนนิดเดียวเท่านี้ เรายังเห็นได้ว่าธรรมที่ท่านสอนไว้แล้วนั้นเป็นจริง เห็นได้จริงเช่นนี้ ๆ ก็จะรู้สึกไม่สงสัยในคำสอนอีกต่อไป คำสอนอื่นๆ ที่ละเอียดๆ ยิ่งขึ้นไปที่ได้ศึกษามา แม้ยังไม่สามารถรู้ได้เห็นได้ แต่ก็เกิดศรัทธาอย่างมากมายที่ปฏิบัติให้เห็นเองอยู่เนืองๆ ด้วยปัญญา จะระลึกรู้สึกถึงพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งหาประมาณมิได้ จะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ

การศึกษาพระธรรมจึงเกื้อกูลต่อการปฏิบัติอย่างมาก อย่างน้อยเราชาวพุทธ ก็น่าจะมีความรู้ความเข้าใจศึกษาเรื่อง จิต เจตสิก รูป สติปัฏฐานสี่ มรรคมีองค์แปด วิปัสสนาภูมิ เพียงเท่านี้ก็พอที่จะดูแผนที่เป็น เดินถูกทาง แต่ทั้งนี้ข้าพเจ้าองก็เคยพลาด คือเวลาปฏิบัติก็ไม่วางความรู้จากการศึกษา ยังใคร่ครญคิดนึกถึงปริยัติที่เรียนมา หากไม่มีครูอาจารย์แนะนำ ก็คงเสียเวลาอีกเนิ่นนาน เรื่องมีอยู่ว่า

ข้าพเจ้าเคยกราบถามพระวิปัสสนาจารย์ ขณะเข้ากรรมฐานว่า ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วว่าขันธ์ ๕ คือกาย ใจนี้เป็นธรรมที่แตกต่างกัน และเป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้ (การเห็นกายใจเป็นอนัตตาในความหมายว่าเป็นสภาพที่บังคับไม่ได้ ต่างจากการเห็นว่ากาย ใจเป็นอนัตตาในความหมายว่าไม่มีตัวตน) ข้าพเจ้าคิดว่าจะพิจารณาธาตุเป็นลำดับต่อไป จะต้องปฏิบัติอย่างไร

ตอนนั้นข้าพเจ้ายึดติดในวิชาที่ได้เรียนมาเรื่องวิปัสสนาภูมิ ว่าวิปัสสนาภูมิมี ๖ ข้าพเจ้าก็ปรุงแต่งไปเองว่า อ้อ! หากเราจะเดินทางสายนี้ให้ถึงที่สุด ก็ต้องเดินทางนี้ จะเจริญวิปัสสนาภูมิ ๖ นี้แหละ ให้ครบเลย เพื่อให้วิปัสสนาเจริญขึ้น คิดเอาเองว่าผู้ที่จะมีดวงตาเห็นธรรมนั้น ต้องรู้หมดทั่วถ้วนทั้ง ๖ ภูมิ

เมื่อพระอาจารย์ คือพระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี ได้ยินข้าพเจ้าถามเช่นนั้น ท่านก็อมยิ้ม เหมือนขันลูกศิษย์นิดๆ แล้วท่านก็ตอบว่า พระพทุธองค์ท่านไม่ได้หมายความว่าต้องดูทั้งหมด ๖ ภูมิ กำหนดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถูกต้องก็เข้าถึงธรรมได้แล้ว ที่ท่านทรงแสดงไว้ ๖ ภูมิก็เพื่อเกื้้อกูลต่อสัตว์โลกที่ต่างกันทั้งปัญญา และบารมีที่สั่งสมมา

แล้วท่านก็เมตตาแนะนำต่อไปว่า "ต้องเห็นอนัตตา โดยความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน"

ประโยคเดียวแค่นี้แหละ ท่านชี้แนะแค่นี้แล้วท่านให้ปฏิบัติต่อไปเอง

จนคืนสุดท้ายของการปฏิบัติ ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องธาตุ ๑๘ และอนัตตา ปัญหาก็คือ จะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เข้าใจในธรรมนั้นจริงๆ พระอาจารย์ก็ให้ดูกายดูใจดูสภาวธรรมไปเหมือนที่กำลังปฏิบัติอยู่นั่นแหละ ลูกศิษย์ก็งงไปซิ ว่าดูเพียงกายใจแค่นี้เแล้วจะเห็นได้อย่างไรว่ากายใจนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความเข้าใจก็เข้าใจแล้วตามที่ฟังมาว่ากายใจไม่ใช่ของเรา แต่พอยกแขนขึ้นมาดูก็ยังเห็นเป็นรูปเป็นร่างเป็นแขน และเป็นแขนของเรา เป็นตัวเป็นตนของเราอยู่ดี

แต่นั่นแหละ ต่อมาข้าพเจ้าจึงทราบว่านี้คือหัวใจของการปฏิบัติ เพราะผู้ที่มุ่งมั่นมาก โดยเฉพาะขณะเข้ากรรมฐานนั้นก็จะยิ่งมีธรรมตัณหามาก อยากรู้อยากเห็นธรรมมาก ยิ่งอยากรู้ก็จะไม่รู้ ยิ่งอยากเห็นก็จะไม่เห็น ยิ่งอยากบรรลุธรรมก็จะไม่บรรลุธรรม เพราะเราแค่ท่องจำอนัตตา เรายังไม่ยอมรับในใจจริงๆ ว่าเราไม่สามารถบังคับบัญชาสิ่งใดๆได้ ที่จริงอนัตตาเขาแสดงตนอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เห็นเพราะอัตตาของเรามันบังมิดด้วยอวิชชา ความเข้าใจเรื่ออนัตตาที่ได้จากการฟัง การใคร่ครวญ จึงเป็นเพียงเรื่องของโยโสมนสิการ แต่จะปฏิบัติอย่างไร จะวางใจอย่างไรเล่าที่จะทำให้เห็นอนัตตาโดยความไม่ใช่ตัวตนด้วยปัญญา นี้เป็นเรื่องที่บอกกันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใจของผู้ปฏิบัติในขณะนั้นคนเพียงเดียว

ครูอาจารย์ท่านเป็นผู้ชี้แนะ เป็นผู้ถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อประคับประคองให้ลูกศิษย์เดินไม่ผิดทาง แต่เราต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ต้องเดินไปเอง ด้วยตัวของเราเอง ครูอาจารย์่ท่านสอนมาแล้ว เราต้องพิจารณา ใคร่ครวญพลิกแพลง พลิกหน้าพลิกหลัง พลิกซ้ายพลิกขวาด้วยความแยบคายให้ถ้วนทั่ว แต่ละคนก็จะมีความสามารถต่างกัน แล้วข้าพเจ้าก็พบว่าการมีสติกำหนดรู้กายใจให้ตรงสภาวะเท่านั้นยังไม่พอ ผู้ที่มีสติรู้กายอย่างต่อเนื่องแต่จิตตกไปสู่สมาธิก็มีมาก ส่วนผู้ที่รู้ใจ รู้เท่าทันจิต เท่าทันใจ ใจคิดก็รู้ทัน ใจนึกก็รู้ทัน ใจมีอาการ รู้สึกอย่างไรก็รู้ทัน แต่ยิ่งรู้ก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งดูจิตดูใจก็ยิ่งฟุ้งซ่านก็มี

การปฏิบัติจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เพียงแค่ดูอะไร ครูอาจารย์สอนว่าให้ดูกายดูใจ เราก็รู้ว่าเราควรจะต้องดูอะไร คือดูกายดูใจ ดูอะไรนั้นใครๆ จึงดูได้ แต่ดูอย่างไรนี่ซิสำคัญกว่า ''ดูอย่างไร'' นี้แหละเป็นวิธีการปฏิบัติที่จะช่วยให้เกิดปัญญา วิธีว่าจะดูอย่างไรนี้่มักแฝงอยู่ในคำสอนของบรมครูอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ว่าหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ดู่ หลวงพ่อพุธ เจ้าคุณนรฯ หลวงปู่ชา เป็นต้น ท่านทั้งหลายล้วนสอนเสมอว่าดูอย่างไร ท่านสอนแล้ว สอนแบบตรงๆ บ้าง แบบต้องตีความบ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแสวงหาความรู้กันเอง

สำหรับข้าพเจ้านั้น เมื่อปฏิบัติต่อๆ ไป ก็พบว่า (อันนี้เป็นไปเฉพาะตน มิได้มีคำสอนรับรอง)วิปัสสนาภูมิ ๖ นั้น เหมือนกับจะเรียงไว้ตามลำดับให้พิจารณาจากธรรมที่รู้ง่ายไปสู่ธรรมที่ละเอียดและรู้ได้ยากขึ้น ดังเช่น ผู้ปฏิบัติที่เริ่มปฏิบัตินั้น ครูอาจารย์ก็มักแนะนำให้ดูกายดูใจคืีอขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นเบื้องต้นนั่นเอง เพราะเป็นธรรมที่เรามักคุ้นเคย เรามักได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สอนเรื่องขั้นธ์ ๕ หรือได้อ่านมาบ้าง (อย่างน้อยๆ ก็เคยได้ยินชื่อ)

ส่วนเรื่อง ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมที่เรามักจะไม่ค่อยคุ้นเคย ผู้ปฏิบัติบางท่านก็เห็นว่าเป็นเรื่องยาก หรือสนใจให้ทราบเพียงว่าธรรมแต่ละหมวดมีอะไรบ้าง แต่ที่สนใจศึกษาเพื่อนำมาปฏิบัตินั้นมีส่วนน้อย ทั้งๆ ที่เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ตรง และเห็นได้เข้าใจได้จริง

ผู้ที่ศึกษาพระธรรมมาบ้าง (ไม่ว่าในอดีตชาติ หรือปัจจุบันชาติ) มีความเข้าใจเรื่องอายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ก็สามารกำหนดรูปนาม คืีอดูกายดูใจโดยละเอียดขึ้นไปในลักษณะของความเป็นอายตนะ เป็นธาตุ เป็นอินทรีย์ได้ เช่นอายตนะก็มีอายตนะภายในและภาายนอกได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น กายประสาทเป็นรูป และมีใจ กับธรรมารมณ์เป็นนามเป็นต้น

Comments   

+1 # ขอบคุณค่ะanalaya 2011-12-01 16:47
ขอบคุณค่ะ คุณ ธนพงศ์
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # ขออนุโมทนาธนพงศ์ 2011-10-29 18:14
บทความ โลกในทางพระพุทธศาสนา และ วิปัสนาภูมิ ๖
ดีจริง กระชับ และ เข้าใจง่าย ไม่เห็นเนื้องอก

กุศลธรรมนี้ย่อมส่งผลแด่ท่านผู้เผยแผ่ด้วยความเอื้อเฟื้อ
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # ขอบคุณค่ะanalaya 2011-10-17 17:39
ขอบคุณทุกท่านค่ะ
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # เนื้อล้วนไม่งอกkpleo 2011-10-11 22:06
ผมกินก๋วยเตี๋ยวไม่เคยใส่ถั่วงอก เพราะถั่วงอกกลิ่นแรงจะดับกลิ่นของอื่นหมด
ผมกินก๋วยเตี๋ยวหลอด ไม่เคยขาดถั่วงอก เพราะถ้าก๋วยเตี๋ยวหลอดขาดถั่วงอก ความอร่อยก็ขาดหายไป
ผมฟังธรรม อ่านข้อธรรม ก็พิจารณาเนื้อธรรมที่เป็นหลัก ไม่ฟังหรืออ่านหลักธรรมที่เป็นเนื้องอก เพราะเนื้องอกของหลักธรรม จะยิ่งทำให้ไปไกลจากหลักธรรม
ขออนุโมทนาความตั้งใจดีของคุณ ธรรมย่อมอยู่กับผู้ประพฤติธรรม เท่านั้นก็มากพอสำหรับผู้ตั้งใจดี
ไม่มุ่งหวังและปล่อยวาง ใจจึงว่างและเป็นสุข

ขอให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านอนาลยา จงถึงสุญตาธรรม
Reply | Reply with quote | Quote
+2 # บทความดีๆปิ่นฟ้า 2011-07-24 12:35
:lol: สาธุ สาธุ ขออนุโมทนากับบทความดี ๆ ที่แบ่งปันกันค่ะ ขอใหเจริญในธรรมสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ :lol:
Reply | Reply with quote | Quote
+2 # ขออนุโมทนากุหลาบสีชา 2011-05-14 19:34
:-) ขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ :-)
Reply | Reply with quote | Quote

Add comment


Security code
Refresh

Users
3537
Articles
271
Articles View Hits
3193866