× เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนา

การเจริญอานาปานสติ กับ มหาสติปัฏฐานสี่

04 Oct 2010 02:24 - 04 Oct 2010 02:41 #17 by analaya
ข้อความด้านล่างเป็นโพสเรื่องเกี่ยวกับการเจริญอานาปานสติ ที่มีผู้ถามมาใน Facebook และได้นำมาลงไว้ที่นี้เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ค่ะ
ขอบคุณ คุณตามรอย ท่านพุทธทาส ผู้เริ่มกระทู้ที่ Facebook ค่ะ


มหาสติปัฏฐานสี่ หมายถึงฐานอันเป็นที่ตั้งของการเจริญสติ


ดังที่คุณ ป้าของหมีพูล หนูพีร์ quoted คำอธิบายของท่านพระครูเกษมธรรมทัตมาว่า
"ที่ตั้งของสติ มีอะไรบ้าง ให้รู้จัก ที่ตั้งของสติ ซึ่งเรียกว่าสติปัฏฐาน มีอยู่ ๔ ฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม"

โปรดสังเกตุคำว่าที่ "ที่ตั้งของสติ" มหาสติปักฐาน ๔ เป็นที่ตั้งของสติ
ทำไมท่านไม่ใช้คำว่า "มหาสมาธิ" หรือ "มหาสมาธิ-สติปัฏฐาน สี่" ทั้งๆ ที่ในมหาสติปัฏฐานสี่นั้น พระองค์ทรงกล่าวถึงอารมณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเจริญกรรมฐานทั้งสองแบบ
คือทั้งการเจริญสมถกรรมฐาน (สมาธิ) และ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน(ปัญญา- เจริญสติ)

นี้เป็นเพราะสมถกรรมฐาน คือการเจริญสมาธิเพื่อให้จิตสงบเป็นอารมณ์เดียวนั้น มิได้มีแต่ในศาสนาพุทธ แต่มีในศาสนาอื่นด้วย และมีมาก่อนพุทธศาสนา

ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน คือ การเจริญปัญญาเพื่อออกจากทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น มีเฉพาะในศาสนาพุทธเท่านั้น ท่านจึงใช้คำว่า "มหาสติ" เพราะจุดมุ่่งหมายสูงสุดของการปฏิบัติในศาสนาพุทธคือ การเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญา มิใช่การเจริญสมาธิ

แต่พระทุทธองอค์มิได้ทรงปิดกั้นการเจริญสมาธิ เราจึงเห็นว่า ในสติปัฏฐานสี่นั้น ทรงแสดงที่ตั้งของสติไว้เช่นในหัวข้อ เวทนา จิต ธรรม เป็นต้น และทรงแสดงอารมณ์ของสมาธิไว้ในหัวข้อกาย เช่น การพิจารณาอาการ ๓๒ และ อานาปานสติก็อยู่ในหมวดกายเช่นกัน

ข้างล่างนี้ตอบคุณ Natima Kittiprayoon ค่ะ
เรื่งอกรรมฐาน ๔๐ และสติปัฏฐาน ๔ นั้น ถ้าดูแต่หัวข้อใหญ่ เช่นกาย เวทนา จิต
ธรรม แต่ไม่ทราบว่าในแต่ละหัวข้อมีอะไรบ้าง ก็จะไม่เห็นภาพ ก็จะสับสนได้ว่าแล้วอานาปานสติอยู่ที่ไหนในมหาสติปัฏฐานสี่ และในกรรมฐาน ๔๐
จึงจะกล่าวย่อๆ ดังนี้ค่ะ:

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (กาย) แบ่งเป็น ๖ หมวดเรียกเป็น "บรรพ" คือ
๑. อานาปานบรรพ คือลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ)
๒. อิริยาบทบรรพ คือ อิริยาบทใหญ่ทั้ง ๔ (ยืน เดิน นั่ง นอน)
๓. สัมปชัญญบรรพ คือ อิริยาบทย่อยต่างๆ เช่น คู้ เหยียด หันซ้าย แลขวา เคี้ยว กลืน กระพริบตา เป็นต้น
๔. ปฏิกูลมนสิการบรรพ คือ อาการ ๓๒(ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น)
๕. ธาตุมนสิการบรรพ คือ ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)
๖. นวสีวถิกาบรรพ คือ ซากศพ ๙ ชนิด

โดยย่อนะคะ เปรียบกรรมฐาน ๔๐ กับหมวดกายนี้จะเห็นว่า
๑. อานาปานบรรพ ในกายาสุปัสสนาสติปัฏฐาน = อานาปานัสสติ ในกรรมฐาน ๔๐ (อยู่ในหมวดในอนุสสติ ๑๐ ข้อที่ ๑๐)
๒. ปฏิกูลมนสิการบรรพ = กายคตาสติ ในกรรมฐาน ๔๐ (อยู่ในหมวดอนุสติ ๑๐ ข้อที่ ๙)
๓. ธาตุมนสิการบรรพ = จตุธาตุววัตถาน (คือการพิจารณาธาตุทั้ง ๔) ในกรรมฐาน ๔๐
๔. นวสีวถิกาบรรพ = อสุภ ๑๐ ในกรรมฐาน 40 ต่างกันตรงในสติปัฏฐานท่านแสดงแนวทางการพิจารณาซากศพไว้ ๙ ชนิด แต่ในกอสุภ ๑๐ ทรงแสดงไว้ ๑๐ ชนิด

ส่วนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๙
คือ สุขเวทนา(กาย) ทุกขเวทนา(กาย) และอุเบกขา(ใจ) นับได้ ๓ แล้วเพิ่มอีก ๖ คือ
สุขใจที่เจือด้วยกามคุณ
สุขใจที่ไม่เจือด้วยกามคุณ
ทุกข์ใจที่เจือด้วยกามคุณ
และทุกข์ใจที่ไม่เจือด้วยกามคุณ
อุเบกขาที่เจือด้วยกามคุณ
และอุเบกขาที่ไม่เจือด้วยกามคุณ

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การพิจารณาจิตมี ๑๖ ไล่เรียงตั้งแต่อกุสลจิต จนถึง จิตวิมุตติ เป็นต้น คือพิจารณาตั้งแต่จิตที่เป็นอกุศล กุศล มหัคตะ จนถึงจิตที่หลุดพ้น หรือยังไม่หลุดพ้นก็รู้ชัด
แต่ในการปฏิบัติก็ไม่ต้องไปท่องจำ เพียงทำความเข้าใจ และเมื่อจิตมีสภาวะเป็นเช่นไร ก็เพียงระลึกรู้ ที่สำคัญคือการทำความเข้าใจเรื่องจิด ๘๙ หรือ ๑๒๑ และ เจตสิกที่ประกอบกับจิตย่อมช่วยในการปฏิบัติได้มาก จะทำให้ดูจิตได้ละเอียดขึ้น

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๕ หมวด คือ
๑. นิวรณบรรพ (นิวรณ์ ๕)
๒. ขันธบรรพ (ขันธ์ ๕)
๓. อายตนบรรพ (อายตนะ ๑๒)
๔. โพชฌงคบรรพ (โพชฌงค์ ๗)
๕. สัจจบรรพ (อริยสัจ ๔)

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสภาวธรรมที่ละเอียด ต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจในหมวดธรรมแต่ละหมวดอีกว่าคืออะไรจึงจะกำหนดได้ตรงสภวะ จึงควรที่จะต้องฟัง ต้องอ่าน ต้องศึกษาให้เกิดสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาก่อน

เรื่องที่คุณ Natima Kittiprayoon บอกว่าเจริญอานาปานสติเป็นหลัก นั้นก็อนุโมทนาค่ะ ขอเพิ่มเติมว่า การเจริญอานาปานสตินั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

(มีต่อค่ะ)

อนาลยา

Please Log in or Create an account to join the conversation.

04 Oct 2010 02:25 - 04 Oct 2010 02:31 #18 by analaya
(ต่อ)

คำถามคือเจริญอานาปนสติ อย่างไรที่เรียกว่าสมถะ อย่างไรจึงจะเป็นวิปัสสนา

ก็ให้ดูว่า้ถ้าดูลมหายใจในลัษณะที่เป็นบัญญัติอารมณ์ คือเช่นว่า
๑. ใช้คำบริกรรม พุทโธ หรือเข้าหนอ ออกหนอ หรือพอง ยุบหนอ เรียกว่าคำบริกรรมทุกอย่าง ควบคู่ไปกับการดูลมหายใจ
๒. กำหนดตามลมหายใจว่าสั้นว่ายาว หรือตามลมหายใจที่เริ่มเข้าทางจมูกไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และย้อนออกกลับมาออกทางจมูก หรือกำหนดเพ่งดูลมหายใจ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เช่นปลายจมูก หรือ เหนือสะดือ

อย่างนี้ ผลที่ได้คือความสงบ เป็นสมาธิ แต่ยังไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องมีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ แต่คำบริกรรมเป็นบัญญัติ และการตามลมหายใจไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายก็เป็นสมมุติ ร่างกายมีที่ไหน อะไรคือกาย แขนขาร่างกายนี้เป็นความจริงทางโลกเรียกว่าสมมุติสัจจะ แต่ความจริงในทางพุทธศาสนาคือ กายนี้เป็นกองขันธ์ เป็นที่ประชุมของธาตุ ๔ อายตนะ ๑๒ ซึ่งเรียกว่าปรมัตถสัจจะ การตามดูลมเข้าออกภายในสมมุติกายนั้น จิตก็เพียรจรดจ่ออยู่กับสิ่งสมมุติ จึงเห็นเป็นตัวเป็นตนเป็นเขาเป็นเรา (เป็นตัวกูของกู) แล้วจะเข้าใจในความจริงของชีวิต แยกขันธ์ แยกธาตุ จนเกิดปัญญาเห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน (อนัตตา)ได้อย่างไร

หากจะพิจารณาลมหายใจ ในแนวทางการเจริญวิปัสสนาก็กลับมาที่มหาสติปัฏฐานสี่นี้เอง
กล่าวมายาว แต่ปฏิบัติง่ายมากค่ะ ไม่ต้องท่องจำอะไรให้ยาวเหยียด มีสามวิธีย่อๆ ค่ะ


สำหรับผู้ทีเจริญอานาปานสติมาแล้ว ก็เร่ิมพิจารณาลมหายใจตามที่เคยฝึกมา เริมด้วยการบริกรรมก่อนก็ได้ แล้วจะตามลมก็ได้ เพ่งจุดที่ลมกระทบก็ได้

๑. พอจิตใจเร่ิมสงบระงับ คำบริกรรมก็น่าจะหายไปเอง ถึงตอนนี้แทนที่จะปล่อยให้จิตอยู่นิ่งๆ สงบเงียบเชียบหรือเข้าสมาธิลึกมากยิ่งขึ้น ก็เริ่มมาบริหารจิตกันค่ะ โดยไม่ต้องตามดูลมหายใจ แต่กลับการมาดูที่ เวทนา หรือดูที่จิตก็ได้ค่ะ ก็จะเป็นวิปัสสนาทันที เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ดูเวทนา โดยดูว่าขณะนั้นมี "ความรู้สึก" สบาย หรือ ไม่สบาย ทั้งทางกาย และทางใจที่เกิดขึ้น ก็ให้ระลึกรู้ความรู้สึกสบาย ไม่สบายนั้นๆ เป็นปัจจุบันขณะ

หรือย้อนกลับมาดูที่จิตว่าขณะนั้นจิตมีอาการอย่างไร เช่น มีปีติ มีความสุข มีความอิ่มใจ หรือมีความสงสัย เป็นต้น

๒. นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่พระครูเกษมธรรมทัตท่านแนะนำ คือ ให้ดูที่ความรู้สึกเย็นร้อน ของลมหายใจ ย้ำว่าดูที่ความรู้สึก คือให้ใช้ความรู้สึก มีสติอยู่ที่ความรู้สึกขณะที่ลมกระทบ ก็จะรู้สึกว่าลมที่หายใจเข้าจะเย็นกว่าลมที่หายใจออก ตรงนี้จะเห็นว่า ลมที่กระทบไม่ใช่เป็นเพียงอากาศธาตุ แต่ประกอบไปด้วยธาตุ ธาตุอะไรคะ ธาตุไฟค่ะ ลมที่เข้าไปเย็นเพราะมีธาตุไฟน้อย ลมที่ออกมาร้อนเพราะมีธาตุไฟมาก ทำไมลมที่ออกจึงร้อนกว่าตอนเข้าไป เพราะในร่างกายนี้มีธาตุไฟที่เผาผลาญในร่างกายซึ่งร้อนกว่าลมที่สูดเข้ามา เวลาหายใจออกก็หายใจนำธาตุไฟที่เผาผลาญในร่างกายออกมาด้วย (สังเกตุได้ว่าเวลาเป็นไข้ตัวร้อน ลมหายใจจะร้อนมากเพราะธาตุไฟกำเริบ) เมื่อมีสติระลึกรู้ถึงการกระทบ (ผ้สสะ) เช่นนี้ ก็จะมีปัญญาเห็นความจริงว่า ที่สมมุติเรียกว่าลมหายใจเข้าออกก็เป็นเพียงธาตุที่กระทบกัน คือธาตุลม(วาโยธาตุและธาตุไฟ(เตโชธาตุ) กระทบกับธาตุดินน้ำลมไฟที่ประกอบขึ้นเป็นสมมุติกายนี้ ก็จะละวางความเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ บุคคล เราเขาลงไปได้ วิธีนี้จัดอยู่ในหัวข้อโผฏฐัพพายตนะ ซึ่งเป็นข้อย่อยในอายตนบรรพที่กล่าวไว้ข้างต้นในหมวดธัมมานุปัสสนาฯ

๓. สุดท้ายคือ ท่านที่เจริญอานาปานสติจนจิตได้สมาธิระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมธิ ก็ปฏิบัติไปตามที่ทำได้ แต่ขณะที่จิตถอนจากสมาธิ แทนที่จะถอนเฉยๆ แล้วเลิกปฏิบัติเลย ก็ให้สังเกต เวทนา จิต ความรู้สึก อาการในจิตต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันขณะที่จิตถอนออกจากสมาธิ คือเมือจิตถอนจากสมาธิก็เจริญสติต่อ ให้มีสติระลึกรู้การสิ้นไปของสมาธิ ให้มีสติระลึกรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าจิตตื่นขึ้นมารับรู้ผัสสะต่างๆ ความคิดที่เกิดขึ้น หรืออาการในจิต หรือเวทนาในขณะนี้เป็นอย่างไร ได้เปลียนแปลงไปจากก่อนหน้านี้ในขณะที่จิตเข้าสู่สมาธิหรือไม่ ก็จะเห็นว่ากาย เวทนา จิต และธรรม เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้อยู่คงที่ และเปลี่ยนไปเองโดยที่เราบังคับไม่ได้่ และหากว่าจิตจะสงบระงับสู่สมาธิอีก ก็ปล่อยไป ต่อเมื่อจิตถอนจากสมาธิ ก็สังเกตความเปลี่ยนแปลงและอาการใน กาย เวทน จิต ธรรม อีก สลับไปมาเช่นนี้ก็ได้

ถ้าเจริญอานาปานสติอยู่อย่างเดียวก็นับว่าได้ภาวนาในหมวดกาย แต่หากพลิกจิตนิดเดียว ก็ได้มหาสติปัฏฐาน ๔ ครบทั้ง กาย เวทนา จิต และ ธรรม

มีใครสงสัยบ้างคะว่า ทำไมอานาปานสติ คือลมหายใจ หรืออากาศที่เราหายใจนี้ไปอยู่ในหมวดกาย (รูป)
ก็ในร่างกายของเรานี้มีช่องว่างที่เรียกว่าอากาศอยู่ (แม้ในเลือดก็มีอากาศ) อากาศจึงเป็นธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของกาย และอากาศที่เราสูดเข้าไปนั้นท่านจัดเป็นรูป เรียก่วา ปริเฉทรูป ซึ่งอยู่ในอนิปผันนรูป แปลว่าไม่ใช่รูปแท้ เพราะไม่มีการดับสลายไปด้วยความเย็นหรือความร้อน การพิจารณาลมหายใจ (อานานปานสติ) จึงจัดอยูในหมวดกาย

ลำพังอานาปานสติกรรมฐานไม่สามารถก่อให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้ เพราะอานาปานสติมีอารมณ์เป็นบัญญัติ จึงไม่มีไตรลักษณะ (คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) แต่อานาปานสติสามารถเป็นฐานไปสู่การเจริญวิปัสสนาได้

ดังจะเห็นว่า พระองค์เองก็ได้ทรงฝึกสมาธิ กับท่านอาฬารดาบสกับท่านอุทกดาบสมาก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ แม้การเจริญอานาปานสติเพีื่อให้เกิดสมาธินี้จะมีอานิสงส์มาก แต่ทรงเเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ดังที่ท่านได้ตรัสไว้ว่า

"ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงเพื่ออุบัติในเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมเท่านั้น. เราจึงไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้น ๆลๆ "

ในคืนที่ตรัสรรู้จึงทรงใช้อานาปานสติ เพื่อเป็น "ฐานในการเจริญปัญญา" จนทรงบรรลุซึ่งพระสัมโพธิญาณ (ญาณ ๓)

อนาลยา

Please Log in or Create an account to join the conversation.

04 Oct 2010 02:28 #19 by analaya
คำถามจากคุณ Natima Kittiprayoon ต่อจากโพสที่แล้ว

ขอบคุณมากๆเลยนะคะ สิ่งที่สงสัยก็ได้เข้าใจกระจ่างแจ่มชัดเลยทีเดียว คงเหลือเพียงแต่ปฏิบัติเองเท่านั้น ^^ / แต่มีข้อสงสัยตรงนี้นะคะ ขอรบกวนถามนะคะ อ้างอิงจากข้อความนี้นะคะ "ดูเวทนา โดยดูว่าขณะนั้นมี "ความรู้สึก" สบาย หรือ ไม่สบาย ทั้งทางกาย และทางใจที่เกิดขึ้น ก็ให้ระลึกรู้ความรู้สึกสบาย ไม่สบายนั้นๆ เป็นปัจจุบันขณะ

หรือย้อนกลับมาดูที่จิตว่าขณะนั้นจิตมีอาการอย่างไร เช่น มีปีติ มีความสุข มีความอิ่มใจ หรือมีความสงสัย เป็นต้น" ---> ปกติที่ปฏิบัติจะอยู่ตรงนี้แหละค่ะ คือ พอจุดๆหนึ่ง ลมหายใจก็หายไปเอง แต่จะนิ่งๆไปเลย แล้วก็ อืม.. รู้สึกดีจัง และ้ก็จะสงสัยตามมาว่า แล้วที่เรานิ่งๆแบบนี้ ถูกรึเปล่าเนี่ย แล้วเราก็จะนิ่งๆไปแบบนี้เนี่ยหรอ แล้วก็หาคำตอบไม่ได้ ก็เลยงงๆ แล้วก็ออกจากสมาธิ แล้วก็แผ่เมตตาไปเลยอะคะ (สรุปแบบนี้ ต้องทำอย่างไรคะ คือ พอรู้ว่าสงสัย ก็ให้รู้ว่าสงสัย และก็ตอบตัวเองว่าจะสงสัยทำไม และพยายามนิ่งไม่ต้องสงสัยหรอคะ) ^^ รบกวนให้ความสว่างด้วยนะคะ

อนาลยา

Please Log in or Create an account to join the conversation.

04 Oct 2010 02:28 - 04 Oct 2010 02:33 #20 by analaya
"รู้สึกดีจัง" ก็ต้องรู้สึกที่ใ่จไม่ใช่แต่คิดว่ารู้สึกดีึจัง ไม่ไใข่ไปดูที่ความคิด แต่ให้ดูที่จิตที่กำลังรู้สึกว่าดี รู้สึกให้ลึกลงไปในใจว่าใจสบายเป็นเช่นนี้ ใจที่เป็นสุขเป็นเช่นนี้ เมื่อเกิดขึ้นให้รับรู้ เพียงแค่รับรู้ รู้แบบพากย์ในใจไปก่อนก็ได้ค่ะ เวลาคิดก็เหมือนเราพากย์หรือพูดในใจคนเดียว แล้วเมื่อความรู้สึกสงสัยตามมาอย่างที่บอก ก็ให้รู้ ว่ากำลังสงสัย สงสัยแล้วพากย์ในใจต่อว่า "...แล้วที่เรานิ่งๆแบบนี้ ถูกรึเปล่าเนี่ย..." ใหม่ๆ ก็พากย์อย่างนี้ไปก่อน แต่ต่อไปหากเจริญสติต่อเนื่องเป็นปัจจุบันขึ้น ก็จะเลิกพากย์ไปเอง จิตจะไม่คิดไปเอง เพราะการคิดก็ยังช้าเกินไปกว่าสติที่รับรู้ความเปลี่ยนแปลงในจิต จิตจะแต่รู้และรู้สึก ไม่ทันได้คิดต่อไปให้ยืดยาว ถ้ามัวแต่คิดอยู่ก็จะไม่ทันรู้สิ่งที่เกิดขึ้นดับไปเป็นปัจจุบันอยู่อย่างตลอดเวลานั้น จิตที่เป็นปัจจุบันจึงแต่่ รู้ รับรู้ รู้สึกๆๆๆ

รับรู้เช่นว่า รู้ว่ากำลังรู้สึกดี แล้่วก็มีสติรู้ว่าความรู้สึกดีดับไป แล้วก็รับรู้ว่าความสงสัยเกิดขึ้น ความสงสัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอีก แล้วถ้าดูละเอียดๆขึ้น อาจจะรู้ว่าจิตมีอาการเปลี่ยนไปเปลียนมาตลอด ฝึกให้มีสติเห็นความเปลี่ยนไปของจิตเท่านั้น รับรู้อาการ รับรู้คาวมรู้สึก รับรู้เวทนาที่เปลี่ยนแปลงไป รับรู้เฝ้าดูเฉยๆ อย่างเบาๆ เหมือนไม่จงใจ อย่าไปเคร่งเครียด ก็จะเห็นรายละเอียดของจิตมากขึ้น

เปรียบเสมือนเรามองดูโต๊ะหนึ่งตัว ถ้าคุณครูให้นักเรียนดูโต๊ะหนึ่งนาที แแล้วถามว่าเห้นอะไร
นร.คนหนึ่งตอบว่า เห็นโต๊ะ
แต่อีกคนหนึ่งเพ่งมองโต๊ะเห็นภาพวาดบนโต๊ะก็คิดไปว่าภาพนี้ดูไม่รู้เรื่อง สงสัยจริงว่าเป็นภาพอะไร แล้วเราจะบอกคุณครูอย่างไรดี เด็กคนนี้เห็นภาพภาพเดียว ก็คิดไปยาวเหยียดจนเวลาหมด ไม่ได้ดูอย่างอื่น
ส่วนนร. คนสุดท้าย ตอบว่า เห็นโต๊ะที่ทำด้วยไม้ มีภาพวาดอยู่ด้านบนโต๊ะ ขาโต๊ะแกะสลัก และโต๊ะก็ยังมีฝุ่นจับอยู่ด้วย

อย่างนี้เรียกว่าเห็นรายละเอียด การดูจิตก็เช่นกัน ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็เห็นจิตเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวและไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนผู้ปฏิบัติที่เร่ิมปฏิบัติ เมื่อรับรู้ความรู้สึกในจิต หรืออาการในจิตแล้วก็คิดๆๆๆๆๆ คิดเอง ถามเอง คอบเองเหมือนคุยกับตัวเองอยู่คนเดียวในใจ ทำให้พลาดโอกาสที่จะรู้สึก หรือรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นปัจจุบันในจิตขณะนั้น เพราะมัวแต่ไปตามความคิด เพราะความคิดเป็นเรื่องราวที่จิตคิด แต่ไม่ใช่จิต เราเสียเวลาไปดูเรื่องราวไปดูความติด แต่ไม่ได้ดูที่จิต ดูที่จิตคือดูสภาพรู้ สภาพที่รู้สึก ดูอาการที่เกิดขึ้นดับไป ไม่ใช่ไปตามดูเรื่องราวที่จิตสร้างขึ้นซึ่งเป็นการดูออกไปนอกตัว วิปัสสนาต้องดูภายในกายใจ

แต่ผู้ปฏิบัติจนสติเจริญขึ้น เห็นรายละเอียดที่เกิดขึ้นและดับไปภายในจิตอย่างรวดเร็วเป็นปัจจุบันมากขึ้นๆๆๆ ความคิดใด ความสงสัยใดๆ เกิดขึ้นก็แต่รับรู้ด้วยใจ ด้วยความรู้สึก ไม่ต้องพากย์ รู้แต่ว่าจิตกำลังคิด กำลังสงสัย มันไม่ทันได้คิดว่าคิดอะไรด้วยซ้ำ เพราะสติไปจับความสงสัยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันได้ทันที

"...พอรู้ว่าสงสัย ก็ให้รู้ว่าสงสัย และก็ตอบตัวเองว่าจะสงสัยทำไม และพยายามนิ่งไม่ต้องสงสัยหรอคะ..."

พอรู้ว่าสงสัย ก็เรียกว่ามีสติเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เป็นมหากุศลขึ้นหนี่งขณะ ที่จริงน่าจะฝึกให้รู้ว่า "กำลัง"สงสัย กำลังเป็นเรื่องของปัจจุบันขณะ กำลังสงสัย กำลังโกรธ กำลังสงสาร กำลังๆๆๆๆ จะได้เห็นจิตเป็นปัจจุบันจริงๆ เพราะถ้ารู้เพียงว่า "สงสัย" ก็จะพากย์ต่อคิดต่อไปว่า "จะสงสัยไปทำไม" แล้วไม่ได้ดูว่าขณะที่กำลังคิดนั้น จิตกำลังมีอาการอย่างไร แต่ถ้าฝึกอย่างที่แนะนำก็น่าจะเป็นประโยชน์เพราะว่าคำว่า "กำลัง"มันมีความหมายสมบูรณ์ในตัว มันจะช่วยให้รู้สึกปัจจุบันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปบังคับจิตไม่ให้คิด ไม่ให้สงสัย ถ้าใครบังคับได้ก็เป็นบุคคลพิเศษมากที่สามารถบังคับบัญชาให้จิตเป็นไปได้ตามที่ต้องการ

สงสัยก็รู้ว่า "กำลัง" สงสัย ดูมันเฉยๆ สงสัยก็ตั้งอยู่ได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวสงสัยมันก็ดับไปเอง ไม่ต้อไปพยายามนิ่งไม่ต้องสงสัย ธรรมชาติของจิตไม่นิ่ง จิตมีหน้าที่รับอารมณ์อยู่เสมอ เราก็แต่เฝ้ารู้ เฝ้าดูว่าจิตกำลังรับอารมณ์ใด จิตรับอารมณ์เดียวทั้งวันหรือไม่ รับอารมณ์เดียวในหนึ่งชั่วโมงหรือไม่ รับอารมร์เดียวไม่แปรเปลี่ยนเลยในหนึ่งนาทีหรือไม่ ลองพิจารณาดู

ถ้าจิตจะฟุ้งซ่าน ก็แต่รู็ ไม่ต้องไปโกรธตัวเอง ฟุ้งซ่านก็เป็นธรรมชาติของจิต แค่รับรู้ เฝ้าดูด้วยใจที่เป็นกลาง พระครูเกษมธรรมทัตท่านแนะว่า ให้ทำเหมือนยืนอยู่ในซอยแล้วมองไปทางปากซอยที่มีรถวิิ่งผ่่านปากซอยไป เราก็จะเห็นรถวิ่งผ่านปากซอยไปคันแล้วคันเล่า ผ่านแว็ปๆๆๆๆๆ ติดต่อกันเป็นสาย

ดูจิตก็ดูเช่นนั้น อารมณ์ใดผ่านเข้่ามาก็แต่รู้แล้วมันก็จะผ่านไป ก็ให้รู้อารมณ์ใหม่ๆที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราดูรถคันหนึ่งแล้วหันไปคุย หรือมัวแต่ไปคิดว่ารถยี่ห้ออะไร มีคนนั่งมากี่คน ใช่เพื่อนเราไหม เราก็จะพลาดการเห็นรถคันหลังๆ แต่ถ้าพลาดไปแล้วก็ไม่ต้องโกรธตัวเอง เพราะโกรธก็เป็นอกุศล เรากำลังเจริญสติเป็นกุศลอยู่ดีๆ ไปแว็ปเอาอกุศลทำไมกัน เราก้ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องขัดเคืองตนเอง แต่้ถ้าเผลอโกรธ เราก็พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คือแทนที่จะขัดเคืองโกรธว่าเราปฏิบัติไม่ได้ทำไม่ถูกเราไ่ม่ควรโกรธเลย อย่างนี้เป็นอกุศล เราก็เปลียนเสียใม่ เป็นว่า เมื่อมีสติระลึกรู้ว่า "กำลังโกรธ" เห็นความโกรธกำลังเกิดขึ้น ก็แค่รู้ว่ากำลังโกรธ ให้รู้สึกถึงความรู้สึกในใจว่าเวลาโกรธแล้วจิตใจเป็นอย่างไร (เหมือนเวลาเราดีใจกับเราเสียใจร้องให้ในใจน่ะ มันต่างกันด้วยความรู้สึก และด้วยอาการทางกายอย่างไร อาการโกรธไม่สบายใจหรือสงสัย ก็เช่นกัน)อย่างนี้เป็นสติ เป็นกุศล และเมือโกรธดับไป ก็รู้ด้วยว่าดับ

อนาลยา
The following user(s) said Thank You: peen

Please Log in or Create an account to join the conversation.

04 Oct 2010 02:29 #21 by analaya
สงสัยเป็นปรมัตถ์ ระลึกรู้ว่ากำลังสงสัย เป้นวิปัสสนา เป็นการรู้นาม
เรื่องราวที่คิดดดดดๆๆๆๆสงสัย เป็นบัญญัติ ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นการส่งจิตออกนอกกายนอกใจ

เจริญสติให้มาก ให้ต่อเนื่อง ความติดความสงสัยจะสั้นกระชับขึ้นๆๆ ไปเอง สติจะเป็นปัจจุบันขึ้นเอง ต่อไปเพียงจิตเคลื่อนไปแค่เริ่มจะคิดก็รู้ แล้วก็ที่เหมือนกว่าจะคิด ก็เลยไม่มีความคิด มันดับไปเอง

อนาลยา

Please Log in or Create an account to join the conversation.

Time to create page: 0.238 seconds
Users
3558
Articles
271
Articles View Hits
3199008