ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ - ทอดกฐินมา ให้ได้กฐินไป

Article Index

 

 

ตอนที่ ๒ "ทอดกฐินมา ให้ได้กฐินไป

 

ในวันทอดกฐิน ณ วัดญาณเวศกวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖  ท่านปยุตโตจึงได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง "ทอดกฐินมา ให้ได้กฐินไป" เพื่อสอนให้ผู้ที่ไปทอดกฐินในวันนั้นได้เข้าใจถึงสาระสำคัญที่แท้จริงของการทอดกฐิน ท่านชี้แนะให้รักษาจิตใจและความประพฤติให้ดีงามเพื่อจะได้บุญได้กุศลจากการมาร่วมทอดกฐิน โดยได้กล่าวถึงอานิสงส์กฐินของฆราวาสไว้อย่างน่าสนใจ ท่านใช้คำว่า "อานิสงส์กฐินของโยม" ซึ่งท่านหมายความถึง "คุณสมบัติที่ดีงามที่ควรบรรจุในกฐินซึ่งจะทำให้เกิดผลดีสำหรับทุกๆคน" ท่านจัดรวบรวมมาอธิบายเป็น ๓ ชุด ชุดละ ๕

 
ชุดที่ ๑ เป็นชุดข้างในใจ 
ชุดที่ ๒ เป็นชุดอากัปกิริยาการแสดงออก 
ชุดที่ ๓ เป็นชุดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์หรือผู้อื่น  
 
คุณสมบัติดีๆ ๓ ชุดนี้มีรายละเอียดอะไรบ้างขอเชิญฟังและดาวน์โหลดพระธรรมเทศนาเรื่อง  "ทอดกฐินไป ให้ได้กฐินมา" โดยท่านปยุตโต  ฟังแล้วดีมาก จึงได้พยายามค้นหาไฟล์เสียงดังกล่าวในอินเทอร์เน็ทมา ซึ่ง พุทธศาสนิกชนควรฟังอย่างยิ่งได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ   http://www.watnyanaves.net/th/clip_detail/542 
 
หรือแม้ท่านที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนา เพียงแค่อ่านหัวข้อทั้ง ๓ ก็จะเห็นว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของความสำรวมระวัง กาย วาจา และใจ...อันเป็นปัจจัยสำคัญของความสามัคคี เพราะเมื่อสำรวมระวังแล้ว การกระทบกระทั่งก็ไม่เกิดขึ้น จิตใจก็จะมีแต่กุศลทำให้ได้รับอานิสงส์กฐินได้อย่างเต็มที่ 
 
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคำสอนของท่านปยุตโตโดยละเอียด ก็ทำให้รู้สึกซาบซึ้งว่า ท่านมิได้เน้นเรื่องวัตถุปัจจัย การที่ท่านใช้คำว่า "คุณสมบัติ" ที่ดีงาม  "ที่ควรบรรจุในกฐิน" นั้นหมายความว่าท่านให้ความสำคัญที่นามธรรมและต้องการชี้ให้พุทธศาสนิกชนมองให้ลึกซึ้งถึงนามธรรมเหล่านี้มากกว่าวัตถุสิ่งของที่ญาติโยมบรรจงบรรจุในกฐิน...... 
 
พวกเราชาวพุทธ..จึงควรทบทวนเรื่องประเพณีการทอดกฐิน  มุ่งเน้นเรื่องของความ "สามัคคี" ให้มากว่าการมุ่งเน้นการหาเจ้าภาพสายกฐินสามัคคีให้ได้มากๆ  ตลอดจนการ "แจกซอง" หรือซื้อหาวัตถุสิ่งของ เพื่อ "รวบรวมปัจจัยและสิ่งของถวายให้ได้มากๆ" เท่านั้น
 
จริงอยู่...ทุกคนทราบว่าทำบุญกฐินนั้นได้อานิสงส์มาก แต่อานิสงส์ของกฐินไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องมีปัจจัยหรือสิ่งของมากๆ....เพราะปัจจัยหรือสิ่งของรวมแล้วไม่ว่าจะมีมูลค่าเป็นแสนเป็นล้าน...ก็เป็นเพียง "บริวารกฐิน" เท่านั้น กฐินจริงๆ คือ "ผ้ากฐิน" ผืนเดียว....
 
ส่วนปัจจัยและบริขารอื่นๆ ที่จัดหามาที่เหลือทั้งหมดนั้นถือเป็นบริวารกฐิน การถวายแค่ผ้าผืนเดียวไม่จำเป็นต้องครบไตรก็นับว่าได้ทอดกฐินอย่างถูกต้องตามพระวินัยแล้ว  เรื่องบริวารกฐินนี้เจ้าภาพจะจัดบริวารกฐินหรือไม่มีเลยก็ได้   แต่เนื่องจากศรัทธาญาติโยมที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้นมีมาก จึงมักถวายผ้ากฐินทั้งไตรเพื่อสงเคราะห์พระสงฆ์ และถวายปัจจัยตลอดจนบริขารอื่นๆ เพื่อที่พระสงฆ์จะได้ใช้สอยตามความสมควร 
 
พุทธศาสนิกชนจึงควรที่จะโยนิโสมนสิการในเรื่องการทอดกฐินให้ถูกต้อง ว่ากฐินเป็นเรื่องของ
 
๑. การแสดงออกของ "ใจที่สามัคคี" สามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ สามัคคีในหมู่พุทธบริษัท สามัคคีระหว่างพุทธบริษัทและคณะสงฆ์... 
๒. กฐิน คือผ้าผืนใดผืนหนึ่งในผ้าไตร... ไม่ใช่ "ปัจจัยหรือวัตถุสิ่งของ" 
 
เรื่องปัจจัยนี้ เคยได้ยินมีผู้กล่าวบ่อยๆ ว่า วัดจะรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น ดังนั้นต้องพยายามรวบรวมปัจจัยให้ได้มากๆ เพื่อถวายในวันทอดกฐิน....เพราะวัดจะต้องใช้ปัจจัยนี้ไปตลอดปี..
 
โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่าถูกต้องแล้วที่กล่าวว่าวัดรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้ง ซึ่งหมายถึงผ้ากฐิน..
  
แต่ปัจจัยนั้นเป็นคนละเรื่องกันกับกฐิน....
 
เพราะญาติโยมสามารถถวายปัจจัยสำหรับเป็นสาธารณูปโภค ค่าก่อสร้าง บูรณะปฏิสังขร เป็นต้น ได้ทุกวันตลอดปี และเคยพบว่าปัจจัยที่ญาติโยมถวายสร้างพระหรือเป็นเจ้าภาพสร้างอาคาร สร้างศาลา หรือสร้างโบสถ์ เป็นต้น ในบางครั้งยังมากว่าปัจจัยที่รวบรวมได้จากงานทอดกฐิน
 
ท่านทั้งหลายคงพบเห็นมาบ้างเมื่อไปทอดกฐิน ว่าปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อ "จำนวน" ปัจจัยมากว่าองค์กฐิน เราอาจจะเห็นการบอกบุญกันจนาทีสุดท้ายเพื่อรวมให้ตัวเลขสวยงาม 
 
ไฮไลท์ของประเพณีทอดกฐินในปัจจุบันจึงอยู่ที่ยอดเงินที่ถวายวัด แทบทุกคนรอฟังอย่างใจจรดใจจ่อคำประกาศว่าปีนี้ได้ยอดเงินเท่าไร ที่แย่กว่านั้นคืออาจจะถึงกับเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ว่ามากขึ้นหรือน้อยลง....หรือเปรียบเทียบกับวัดอื่นๆ ที่ได้มากกว่าหรือน้อยกว่า หลายคนรีบจดเลขเก็บไว้แทงหวยหรือซื้อสลากกินแบ่งฯ .แล้วต่างก็สาธุอนุโมทนากันและกัน...ตรงนี้ดูเผินๆ เหมือนจิตเบิกบานด้วยกุศล..
 
แต่ดูให้ดีสักนิดเห็นโลภะที่เจืออยู่ไหม.....
 
ที่เขียนมานี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการถวายปัจจัยและวัตถุสิ่งของ เพราะเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาที่ญาติโยมร่วมกันถวายปัจจัยหรือวัตถุสิ่งของเพื่อพระสงฆ์ได้ใช้ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป  แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าพุทธศาสนิกชนน่าจะโยนิโสมนสิการในเรื่องประเพณีการทดอกฐินนี้ใหม่ นับตั้งแต่เรื่องการจองกฐินไปจนถึงพิธีการทอดกฐิน ทั้งนี้น่าจะทำให้เกิดความสบายใจ โปร่งเบา ถูกต้อง งดงาม เป็นการช่วยกันรักษาพระวินัย เพื่อที่ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสก็จะได้อานิสงส์ของกฐินอย่างเต็มที่

Add comment


Security code
Refresh

Users
3539
Articles
271
Articles View Hits
3194694